เล็กพริกขี้หนู “หมอกี้ – อังคนางค์” สานฝันตัวเองสร้างแบรนด์ “REGEN Smart City” หวังยกระดับประเทศไทยสู่ความเป็น Smart City เตรียมเปิดตัว “เสาอัจฉริยะ” เจ้าแรกในไทย

Last updated: 16 มี.ค. 2566  |  287 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เล็กพริกขี้หนู “หมอกี้ – อังคนางค์” สานฝันตัวเองสร้างแบรนด์ “REGEN Smart City” หวังยกระดับประเทศไทยสู่ความเป็น Smart City เตรียมเปิดตัว “เสาอัจฉริยะ” เจ้าแรกในไทย

     จากผู้หญิงที่ไม่ความรู้ด้านวิศวกรรมขึ้นแท่นประธานกรรมการ REGEN Solutions & Distribution Co., Ltd. ผู้นำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทป้องกันการระเบิดในอุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท FK International ผู้นำเข้าอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นสำหรับหลุมขุดเจาะน้ำมัน “หมอกี้ หรือ อังคนางค์ ชากีร่า บำรุงสรณ์” ผู้หญิงที่ใช้หัวใจและความจริงใจที่มีในการเลือกสรรสินค้าคุณภาพให้กับลูกค้าซึ่ง 100% เป็นผู้ชายและเป็นวิศวกร 


     มาวันนี้ “หมอกี้” ขอสานฝันตัวเองที่อยากมีสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ล่าสุดส่งโปรเจกต์ใหม่ REGEN Smart City ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ เทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ง่ายเลย แม้จะมีต้นทุนที่ด้อยกว่าคนอื่น แต่มีความกล้าและไม่กลัวเมื่อโอกาสมาถึงก็ไม่ยอมถอยทำให้วันนี้บันทึกหน้าหนึ่งของธุรกิจด้านวิศวกรรมมีชื่อ “หมอกี้ หรือ อังคนางค์ ชากีร่า บำรุงสรณ์” ติดโพลล์อยู่ไม่ต้องสงสัย 



     “หมอกี้” เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจว่า ก่อนที่จะมาเริ่มธุรกิจ ออยล์ แอนด์ แก๊ส ในนามบริษัท FK International ผู้นำเข้าอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นสำหรับหลุมขุดเจาะน้ำมัน ตนเองเปิดโรงพยาบาลสัตว์มาก่อน เพราะจบทางด้านสัตว์แพทย์ พอทำมาได้ 4 – 5 ปีมีโอกาสได้เข้าวงการนี้ เพราะสามีทำงานด้าน ออยล์ แอนด์ แก๊ส ทำให้เริ่มมองเห็นโอกาสในธุรกิจนี้


     “เมื่อ 15 ปีก่อนธุรกิจ ออยล์ แอนด์ แก๊ส เติบโตมาก เราเลยขอเป็นตัวแทนอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นสำหรับหลุมขุดเจาะน้ำมันจากประเทศอังกฤษ ตอนนั้นสินค้าตัวนี้มีจำหน่ายในไทยอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายเราเลยอาสาขอมาช่วยวิ่งตลาดในไทยแทน ตอนนั้นเราใหม่มากเราเรียนรู้เองทุกอย่าง เราไปสอบใบรับรอง IEC ไปอบรม IECEx ไปเรียนการบริหารธุรกิจ เรียนบัญชี ฯลฯ บริษัทที่ทำธุรกิจ ออยล์ แอนด์ แก๊ส ตอนนั้นก็มี ปตท.สผ. เชฟรอน ฯลฯ เราก็เริ่มวิ่งหาลูกค้าคนไทยอย่าง ปตท.สผ. ก่อน โดยจำหน่ายเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิในหลุมขุดเจาะน้ำมัน ราคาเครื่องละหนึ่งล้าน เขาเจาะ 15 หลุมเราก็ขายได้ 15 ล้านแล้ว”


     ด้วยความเป็นผู้หญิง ไม่ได้จบด้านวิศวกรรมและยังเด็กในขณะนั้น ทำให้ลูกค้าหลายรายไม่ยอมรับในตัว “หมอกี้” ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ผ่านพ้นอุปสรรคตรงนั้นมาได้ คือ ความใส่ใจลูกค้าและมองประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ที่สำคัญสินค้าทุกตัวต้องตรงปก 


     “สินค้าเราเน้นเกรดดี ไม่มีสินค้าจีน เราเน้นคุณภาพ แรกๆ เราเข้าหาลูกค้ายากมาก แต่พอเขาได้รู้จักเรา ได้เห็นสินค้าของเรา เขาก็ให้ความไว้วางใจเรา จนทุกวันนี้ไม่ว่าลูกค้าเปิดหลุมขุดเจาะกี่หลุมเขาก็เลือกสินค้าของเราตลอด” 



     จากจุดเริ่มต้นแรกสู่ธุรกิจที่สองภายใต้ชื่อบริษัท REGEN Solutions & Distribution Co., Ltd. ผู้นำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทป้องกันการระเบิดในอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งตลาดนี้ถือเป็นนิชมาร์เก็ตมาก ในอุตสาหกรรมพลังงาน ไฟฟ้า ฯลฯ จะต้องใช้อุปกรณ์ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ ทั้งโคมไฟ ตู้ไฟ คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งมือถือ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีทั้งที่แบรนด์ที่ได้มาตรฐานและแบรนด์รองลง แต่ทาง REGEN Solutions & Distribution มีความมุ่งเน้นจำหน่ายอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานยุโรป จนทำให้กลายเป็นบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทป้องกันการระเบิดในอุตสาหกรรมพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 


     ด้วยความที่เป็นคนชอบเทคโนโลยี ชอบเรียนรู้และมองว่าสินค้าทุกตัวที่จำหน่ายต้องเป็นสินค้าคุณภาพ ทำให้ลูกค้าไว้วางไว้ในสินค้าของบริษัทและเป็นลูกค้ากันมาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านธุรกิจทั้งสองบริษัทเดินช้าลง ทั้งจากปัจจัยโควิด – 19 และธุรกิจออยล์ แอนด์ แก๊ส เริ่มดาวน์ลง การมองหาธุรกิจใหม่จึงเริ่มขึ้น 


      “ตอนนี้ ออยล์ แอนด์ แก๊ส เป็นลักษณะประคองตัวกันไป คนเริ่มหันไปหาพลังงานสะอาด (Renewable energy) มากขึ้น เราก็เริ่มมองหาธุรกิจใหม่ โดยเราต้องการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ตัวเอง จึงตั้งเป็นบริษัท REGEN Smart City (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นคนเดียว 100% สินค้าตัวแรกที่ผลิตออกจำหน่าย คือ เสาอัจฉริยะ 9 มิติ (Regen Smart Pole) เหมาะสำหรับวางโครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะ โดยใช้ 5G AI เข้ามาช่วย เสานี้ประกอบด้วย ไฟถนนอัจฉริยะ ลำโพงกระจายเสียงเพื่อประกาศเตือนภัยสึนามิหรือไฟไหม้ ระบบ SOS จุดกระจายสัญญาอินเตอร์เน็ต กล้องวงจรปิด หน้าจอโฆษณา จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เซ็นเซอร์ตรวจสภาพอากาศ เป็นต้น โดยเสานี้สามารถส่งข้อมูลต่างๆ ไปยังจุดเซ็นเตอร์รับข้อมูลเพื่อขอความช่วยเหลือและสามารถส่งการร้องเตือนด้านความปลอดภัยไปยังสถานีตำรวจได้ด้วย”


     เสาอัจฉริยะนับเป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่ง “หมอกี้” ได้จดลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรการออกแบบไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่เริ่มผลิตสินค้าตัวนี้ “หมอกี้” ก็ยังไม่รู้ว่าตลาดเมืองไทยจะตอบรับสินค้าแค่ไหน แต่เมื่อเริ่มออกจำหน่ายก็ไม่ผิดหวัง 


      “เราเอาสินค้าตัวนี้บุกตลาดภาครัฐก่อน คำว่า Smart City ผู้ที่จะเป็นเจ้าภาพได้ต้องเป็น EEC ตอนนี้ที่ระยองเริ่มเห็นเสาอัจฉริยะนี้แล้วตั้งอยู่ประมาณ 8 จุด ซึ่งอยู่ในช่วงทดสอบและการทำประชาพิจารณ์อยู่ โดยปีนี้คาดว่ากลุ่มราชการจะซื้อเพื่อติดตั้งในที่สาธารณะ ปี 2567 จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมซื้อไปติดตั้งในนิคมต่างๆ ปี 2568 จะเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ติดตั้งตามหมู่บ้าน คอนโด ส่วนปี 2569 จะเริ่มติดตั้งในกลุ่มบ้านคน เราจะเปิดตัวเสาอัจฉริยะให้เป็นที่รู้จักที่งาน Green Your Future 2023 ระหว่างวันที่ 18 – 19 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลระยอง” 


     โดยงาน Green Your Future 2023 เป็นการรวมตัวกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมผลักดันเมืองระยองสู่การเป็น Smart City เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจังหวัดระยอง โดยใช้เทคโนโลยีผสมกับทรัพยากรที่มีในการเพิ่มมูลค่าให้จังหวัด ก้าวทันโลก พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Smart City and Net Zero เมืองอัจฉริยะ ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ภายในงานประกอบ Smart City Activities มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Smart People ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดร่วมกับผู้เข้าร่วมงาน Smart Community เดินชมนิทรรศการ Smart City & Net Zero นอกจากนี้ จะได้พบกับอิงฟ้า วราหะ Miss Grand Thailand 2022 และแพรี่ ไพรวัลย์ ที่มาร่วมพูดคุยในหัวข้อประเทศไทยมุ่งสู่ Smart City

     “การจัดงานรักษ์โลกต้องมี 3 ภาคส่วนสำคัญ คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งเราเป็นแก่นนำสำคัญในการจัดงาน เราได้เชิญอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง อิงฟ้า และแพรี่ มาร่วมพูดคุย เพื่อให้ความรู้เรื่องการรักษ์โลก อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ คือ การประกวด Smart Youth Thailand เวทีประกวดนางงามรุ่นเล็กอายุ 8 - 12 ปี ที่มีใจรักษ์โลก โดยทุกคนจะต้องใส่ชุดรีไซเคิลเข้าประกวดซึ่งทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ได้นำขวดพลาสติกมาเข้ากระบวนผลิตออกมา” 


     “หมอกี้” เชื่อมั่นว่าเสาอัจฉริยะนี้จะเป็นเรือธงสำคัญของธุรกิจและจะสร้างรายได้รวมของบริษัทในปี 2566 อยู่ที่ 500 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 200 ล้านบาท และในอีก 3 ปีข้างหน้าตนจะพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจต่อไป 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้