Last updated: 27 มิ.ย. 2566 | 171 จำนวนผู้เข้าชม |
โดยทั่วไปแล้ว 90% ของร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์จุลินทรีย์หากแบคทีเรียในลำไส้เสียสมดุล สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง, ภูมิแพ้, แพ้อาหาร, มะเร็งบางชนิด, ท้องผูก, ฮอร์โมนไม่สมดุล, แก่เร็ว, และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น การตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้จึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้รู้สาเหตุของปัญหาสุขภาพที่เรื้อรังและยังช่วยตรวจดูความสมดุลของจุลินทรีย์อีกด้วย
แพทย์หญิงอติยา รุ่งแจ้ง ผู้อำนวยการคลินิกบีดีเอ็มเอส เวลเนส รีทรีท สมุย กล่าวว่า โรคทุกโรคเริ่มต้นที่ลำไส้ การดูแลลำไส้เลยมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ถ้าลำไส้ของเราเสียสมดุลไปหรือว่ามีจุลินทรีย์บางตัวที่มันเสียสมดุลไป อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้เหมือนกัน ซึ่งเรื่องของการกินที่สมดุลนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome) จะทำให้ได้คำตอบมากขึ้นว่า ทำไมดูแลตัวเองดีแล้ว… แต่ก็ยังเจอปัญหาสุขภาพ ซึ่งการตรวจจุลินทรีย์จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ จุลินทรีย์ทั่วไป ที่อาจจะส่งผลดีหรืออาจจะส่งผลไม่ดีกับร่างกายก็ได้ขึ้นอยู่กับความสมดุล จุลินทรีย์ที่ไม่ดี ก่อโรค เป็นจุลินทรีย์ที่ถ้ามีเยอะเกินไปก็ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว เป็นต้น และ จุลินทรีย์ที่ดีหรือโพรไบโอติก (Probiotics) ที่สร้างสารมีประโยชน์ต่อร่างกายในระบบลำไส้ หรืออวัยวะอื่น ๆ หากเกิดความเครียด ใช้ร่างกายหักโหม การกินที่ผิดปกติ โพรไบโอติกกลุ่มที่ดี ๆ มักจะโดนทำร้ายไปก่อนและก็จะเสียสมดุลไปก่อนได้ ซึ่งการดูแลโพรไบโอติกที่สำคัญคือการเลือกรับประทานอาหาร เช่น อาหารที่มีไฟเบอร์ ผักและผลไม้ที่มีรสไม่หวาน ถ้าเป็นผลไม้อาจจะต้องเป็นกลุ่มที่มีกากใยอาหารเยอะ เช่น ฝรั่ง มะม่วงเขียว หรือ อาหารในการหล่อเลี้ยงโพรไบโอติก เช่น กิมจิ นัตโตะ ชาคอมบูชา เป็นต้น ข้อจำกัดเดียวในอาหารไทยจะมีพวกนี้น้อยเลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนไทยอาจจะเจอปัญหาเรื่องขาดโพรไบโอติกได้ง่าย เพราะเราไม่ได้มีอาหารกลุ่มนี้ในมื้ออาหารของเรามากนัก
การตรวจจุลินทรีย์จึงเป็นการตรวจความสมดุลระหว่างจุลินทรีย์ชนิดดีและไม่ดีภายในร่างกาย เพราะจุลินทรีย์อาศัยอยู่ในลำไส้มากที่สุด ทำให้การตรวจจากอุจจาระจะได้ผลที่เที่ยงตรงมากที่สุดด้วย โดยวิธีการเก็บที่ไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ที่บ้าน ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างอุจจาระและส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจสุขภาพลำไส้จะช่วยให้สามารถวางแผนดูแลสุขภาพของตัวเองได้ทั้งระบบ เพราะอาการท้องอืด ท้องเสียแบบเรื้อรัง ระบบเผาผลาญไม่ดี หรือ ปัญหาเรื่องภูมิแพ้ที่ต้องพบเจอ อาจเกิดจากจุลินทรีย์ในลำไส้ขาดความสมดุล โดยการตรวจของแพทย์จะช่วยประเมิน ค้นหาความเสี่ยง หรือวินิจฉัยสาเหตุที่อาจเกิดจากการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ รวมถึงอาการผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจจุลินทรีย์คือ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องของการนอนไม่หลับ และปัญหาเกี่ยวกับไมเกรน ผู้ที่มีปัญหาระบบขับถ่าย ย่อยอาหาร แพ้อาหาร และ ลำไส้แปรปรวน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก ผู้ที่มีอาการผิวหนังอักเสบ สิว หรือ ผื่นภูมิแพ้ เป็น ๆ หาย ๆ ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคอัลไซเมอร์ ผู้ที่เป็นหอบ หืด ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่มีระบบการเผาผลาญไม่ดี และมีพฤติกรรมชอบกินเนื้อแดง อาหารแปรรูป หรือ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือโรคอ้วน
สำหรับการทานโพรไบโอติกเพื่อปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ ควรทานเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน พอพ้นจากระยะเวลาที่กำหนดสามารถเข้ารับการตรวจได้ใหม่อีกครั้งเพื่อตรวจดูว่ามีจุลินทรีย์ตรงไหนที่ยังหายไปหรือว่าเริ่มกลับมาสมดุลหรือยัง ตามหลักแล้วกลุ่มอาหารโพรไบโอติกเป็นอาหารที่สามารถทานได้ตลอด หากสมดุลดีขึ้นแล้วสามารถรับประทานกลุ่มอาหารจำพวกที่มีไฟเบอร์หรือพรีไบโอติกเพื่อให้เข้ามาช่วยรักษาสมดุลต่อไปเพราะการทำงานของลำไส้ที่ดีจะช่วยให้การดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้การมีสมดุลทางเดินอาหารที่ดีจะทำให้การออกกำลังกายทำได้ดีขึ้นด้วย รวมถึงการผ่อนคลายจากความเครียดแบบ Gut Brain Axis ที่เป็นทางเชื่อมระหว่างสมองกับลำไส้เพราะฉะนั้นถ้าลำไส้ของเราดีส่วนสัญญาณประสาทของสมองก็จะดีไปด้วยเช่นกันหรือที่เรียกว่าสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอก
ทั้งนี้ BDMS Wellness Clinic พร้อมให้บริการตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome) โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ รวมทั้งให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับการปรับไลฟ์สไตล์เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งการตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้จะช่วยให้แพทย์วางแผนดูแลสุขภาพร่วมกับเราได้และที่สำคัญควรทำควบคู่กับการปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีมากยิ่งขึ้นไป
27 มิ.ย. 2566
21 ต.ค. 2566