Creative Citizen ชวน 10 นักคิด นักสร้างสรรค์ เล่าประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นไอเดียเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

Last updated: 26 ต.ค. 2566  |  172 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Creative Citizen ชวน 10 นักคิด นักสร้างสรรค์ เล่าประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นไอเดียเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

     เครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์ Creative Citizen จัดงาน Creative Citizen Talk 2023 ใน Theme Creative Impact โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. รวบรวม 10 นักสร้างสรรค์ นักคิด นักทำ จากหลากหลายสาขา มาแบ่งปันประสบการณ์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ กระตุ้นต่อมไอเดีย ให้สังคมลุกขึ้นมาสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน จัดขึ้นที่ห้องออดิทอเรี่ยม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในวันที่ผ่านมา



     โดยนายธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ เล่าถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า “โครงการ Creative Citizen คือกลุ่มนักคิด นักออกแบบ และศิลปิน ที่มีความเชื่อเหมือนกันกว่าความคิดสร้างสรรค์สามารถเปลี่ยนโลกได้ ก่อตั้งมากว่า 12 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเครือข่ายพลเมือง สร้างสรรค์ผ่านกระบวนการ Do It Together และได้จัดงาน Creative Citizen Talk ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยเป้าหมายของการจัดงานคือเพื่อให้ผู้ที่ทำงานในสายงาน ครีเอทีฟอาร์ตดีไซน์ ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมร่วมกันและต่อมาจึงมีมิชชั่นใหม่เพิ่มขึ้นอีก คือ การที่ต้องการให้คนทำงานครีเอทีฟหันมาทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น รวมถึงนำความรู้ในวิชาชีพในสายงานนี้ไปช่วยให้ความรู้ให้แก่บุคลากรที่ทำงานภาคสังคมให้มีสกิลงานด้านครีเอทีฟมากขึ้น งานในวันนี้ก็เป็นอีก 1 มิชชั่นที่เราอยากจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงาน จึงได้ชวนนักสร้างสรรค์ 10 ท่าน มาแชร์ประสบการณ์จากการที่ได้ลงมือทำแล้วเกิดผล เพื่อส่งต่อเรื่องราวดีๆ ไปสู่สังคม”

     โดยสรุปเนื้อหาสำคัญจากทั้ง 10 นักสร้างสรรค์ ได้ดังนี้ “ยศสินี ณ นคร” ผู้จัดละครที่ได้ฝากผลงาน "มาตาลดา" เล่าถึงเป้าหมายของการสร้างสื่อแห่งความสุขส่งไปถึงผู้ชมว่า “ผลิตละครฟีลกู้ดเพื่อฮีลใจ ให้ความสุข ทำให้ตัวละครคือมนุษย์จริงๆ เข้าถึงใจคนดู ทุกตัวละครมีที่มา-ที่ไป และส่งสารถึงคนดูให้รู้ว่า ชีวิตเราคือละครเรื่องหนึ่ง และเราคือตัวเอก ค้นหาให้ได้ว่าเหตุผลของการมีอยู่ของเราคืออะไร”



     “อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี” ครีเอทีฟและนักบริหารที่มองบริบทของเมือง ‘จันทบุรี’ บ้านเกิดอย่างสร้างสรรค์ จากเมืองจันทบุรีที่มีแต่ผลผลิต นำมาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ จับเอาของดีที่ทุกคนคุ้นเคยมาเพิ่มมูลค่า ให้กลายเป็นของใหม่ที่น่าจับตามอง กล่าวว่า “เศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ สามารถที่จะสร้างเมืองเพื่อให้เป็นเมืองสร้างสรรค์”

     “ภาคภูมิ โกเมศโสภา” ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน Reviv & Won Won ที่ช่วยให้ทุกคนเข้าใจและเข้าถึง ‘การซ่อม’ ได้ง่ายและสะดวก โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ใช้ข้าวของอย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม ลดขยะ และเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าให้ดีขึ้น จึงอยากปลูกฝังให้คนยุคใหม่ รู้จักการซ่อมการใช้ซ้ำ โดย “เริ่มจากการซ่อม เพื่อไปสู่การปกป้องสิทธิ์ของตัวเองในฐานะผู้บริโภคยุคใหม่”



     “คำรน สุทธิ” สถาปนิกแห่ง Eco Architect ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมไปพร้อมกับแสงแดดและสายลม ด้วยแนวคิด ‘บ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ’ บ้าน คน ธรรมชาติ ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน กลมกล่อม การออกแบบงานจึงได้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุด และกระทบกระเทือนธรรมชาติน้อยที่สุด จากจุดเริ่มต้นของความคิดที่ว่า “เวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมีสติ และดึงทรัพยากรให้กลับฟื้นคืนมา”

     “จิราภรณ์ กมลรังสรรค์” ตัวแทนคณะทำงานอีเวนต์สร้างสรรค์ Soul Connect Fest 2023 ได้เล่าถึงเบื้องหลังการจัดกิจกรรม ที่ทำให้ประเด็น ‘สุขภาวะทางปัญญา’ เข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงคนรุ่นใหม่ เปิดประตูสู่ความสุขและการเข้าใจตัวเอง เพื่อเดินหน้าสู่การโอบกอดตนเองและผู้คนในสังคม เล่าว่า “การทำงาน Soul Connect Fest ถือเป็นการได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการทำงาน และได้พาเราไปเจอคนที่อยู่เคียงข้างเรามาตลอดนั่นคือ ตัวเราเอง”

     “นครินทร์ ยาโน” ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Yano ‘แบรนด์แห่งความสุข’ ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราว ‘ความสุข’ อันแสนอิ่มใจ ที่ส่งต่อไปให้ทีมงานชาวบ้านตามชุมขนต่างๆ กลุ่มลูกค้า และส่งกลับมาถึงตัวเขาเอง สุขที่ได้ครีเอท สุขที่ได้แชร์ สุขที่ได้ใส่ ได้สร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน กล่าวว่า “วงจรแห่งความสุข คือการที่ตัวเราและคนอื่นๆ ต่างก็ได้รับและส่งต่อความสุขออกไปอย่างไม่สิ้นสุด”

     “สุวิตา จรัญวงศ์” ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Tellscore ตัวกลางที่ทำให้ Brand และ Influencer สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด เพื่อใช้เวลาที่เหลือสำหรับการทำกิจกรรมที่เติมเต็มหัวใจให้มี ‘ความสุข’ จากการ ‘แบ่งปัน’ มีความมุ่งมั่นว่า “เราต้องทำประเด็นสังคมให้เป็นเรื่องโก้ อยากช่วยกันเท่ อยากช่วยกันแก้”

     “ยศพล บุญสม” สถาปนิกจาก ฌมา ผู้ก่อตั้ง We! Park กับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้าง Pocket Landscape ที่ตั้งเป้าจะกระจายพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กไปทั่วเมืองกรุง ที่ได้กล่าวว่า “เราไม่ใช่ผู้รอ แต่เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง พลังอยุ่กับเราทุกคน”

     “กัญญจันทร์ สะสม” แห่ง Genderation ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อและงานออกแบบแนวป็อปเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงผู้คน เพื่อให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างสร้างสรรค์ กล่าวว่า “การคิดเรื่องการสื่อสารที่ดีและแก้ปัญหาได้ ช่วยให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนที่กำลังสับสน”

     “ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล” จาก MOHo Studio ที่มีจุดเริ่มต้นของความโมโห ที่เกิดจากขยะมากมายจากงานออกแบบ จนลุกขึ้นมาก่อตั้ง MOHo Studio สตูดิโอที่ใช้กระดาษเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์งาน และเพิ่มดีกรีความโมโหให้โตขึ้นพร้อมกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โดยมีแนวคิดหลักว่า “ในฐานะนักออกแบบ อย่างน้อยผมอยากทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นโลกสีเขียวอย่างที่เราเห็นตอนนี้”



สำหรับผู้ที่สนใจอยากชมงานสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/nzq1OVMhvL/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้